Slider 01 Slider 02 Slider 03 Slider 04 Slider 05

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงได้กำหนดนโยบายให้ครอบคลุมถึงหลักการในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และความเป็นอิสระของคณะกรรมการ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส การควบคุม และการบริหารความเสี่ยง และจริยธรรมธุรกิจ โดยดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวคือ

  • คณะกรรมการจะปฏิบัติและสื่อสารกับผู้ถือหุ้นอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน
  • คณะกรรมการจะคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่างๆ และสนับสนุนให้มีความเข้าใจและร่วมมืออันดีต่อบริษัท
  • คณะกรรมการจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ และจัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนของกรรมการในฐานะที่เป็นกรรมการแยกจากบทบาทของความเป็นผู้ถือหุ้นและฝ่ายจัดการ
  • คณะกรรมการจะดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าฝ่ายจัดการได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลและรายงานของบริษัทอย่างถูกต้อง ตรงเวลา โปร่งใส และสอดคล้องกับกฎระเบียบของทางราชการ
  • คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดให้มีโครงสร้างการพิจารณาความสามารถของฝ่ายจัดการทั้งในด้านนโยบายการจัดการและความเหมาะสมของระบบการควบคุม
  • คณะกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์จรรยาบรรณในการทำธุรกิจสำหรับ กรรมการ ฝ่ายจัดการ และพนักงานทั่วไป เพื่อให้ถือปฏิบัติและใช้เป็นแนวในการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานจริยธรรมทางธุรกิจและแนวปฏิบัติในธุรกิจที่เป็นที่ยอมรับ

คณะกรรมการบริษัทจึงได้ปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัท พร้อมคู่มือจริยธรรม ฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เพื่อนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์ และแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • สิทธิของผู้ถือหุ้น

      คณะกรรมการบริษัทตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ได้แก่ การซื้อขายหรือโอนหุ้น การมีส่วนแบ่งกำไรของกิจการ การได้รับข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลของกิจการอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัท เช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับ และหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น และสิทธิในการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุม สิทธิในความเป็นเจ้าของผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตน และมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบริษัท

      เพื่อส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิเหล่านั้นจึงเห็นควรกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สำคัญดังนี้
      • ให้ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม โดยมีคำชี้แจง และความเห็นของคณะกรรมการประกอบในแต่ละวาระไว้ในหนังสือเชิญประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมแก่ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ทันเวลา (ควรจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อย 21 วันก่อนวันประชุม) และแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม ขั้นตอนการออกเสียงลงมติ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในเว็บไซต์ของบริษัทเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนถึงวันประชุม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอก่อนได้รับหนังสือเชิญประชุมซึ่งเป็นข้อมูลในรูปแบบเอกสารจากบริษัท
      • อำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุม และได้ใช้สิทธิออกเสียงอย่างเต็มที่ เช่น ควรแยกการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินกำไรและการจ่ายเงินปันผลประจำปี ก่อนที่จะมีการปิดสมุดพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลอีกครั้ง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเลือกที่จะถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผลหรือไม่ ควรกำหนดสถานที่ วัน เวลา ในการจัดประชุมให้สะดวกต่อผู้ถือหุ้นที่จะมาเข้าร่วมประชุม และอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มการประชุม และในกรณีผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองให้สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่น หรือมอบฉันทะให้กรรมการอิสระของบริษัท เข้าร่วมประชุมและลงมติแทนได้ โดยอำนวยความสะดวกให้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบฉันทะ และข้อมูลต่างๆ ของบริษัท เช่น ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการประชุม ได้จากเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นและตัวแทนหรือผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาได้ และควรแต่งตั้งหน่วยงานหรือกำหนดบุคคลผู้รับผิดชอบโดยตรงเพื่อตอบข้อซักถามและให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือ e-mail address ระบุไว้ในเว็บไซต์ด้วย
      • ให้ละเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมและในการศึกษาสารสนเทศของบริษัท โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นซึ่งอาจไม่จำกัดเฉพาะสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
      • ประธานที่ประชุมควรจัดสรรเวลาในการประชุมให้เหมาะสม พร้อมแจกบัตรลงคะแนนเสียงเรียงลำดับตามวาระการประชุม และชี้แจงวิธีการลงคะแนน การนับคะแนนตามเอกสารคำชี้แจงวิธีการลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรับทราบก่อนเริ่มการประชุม ส่งเสริมให้ ผู้ถือหุ้นมีโอกาสในการแสดงความเห็นและตั้งคำถามต่อที่ประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามล่วงหน้า 10 วันก่อนวันประชุมผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท หรือทางโทรสาร หรือทาง e-mail ของเลขานุการบริษัท
      • จัดให้มีบุคลากรและเทคโนโลยีอย่างเพียงพอในการประชุมเพื่อตรวจสอบเอกสารลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การแจกบัตรลงคะแนนเสียงตามวาระการประชุม การนับคะแนนและแสดงผล เพื่อให้การประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ
      • จัดแบบหนังสือมอบฉันทะแบบทั่วไป และแบบที่กำหนดรายการต่างๆ ที่จะมอบฉันทะแนบไปพร้อมหนังสือเชิญประชุมทุกครั้ง พร้อมเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน เป็นทางเลือกในการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้หนังสือเชิญประชุมและหนังสือมอบฉันทะควรจัดทำทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และจัดให้มีอากรแสตมป์ สำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะด้วย
      • กรรมการทุกคน ควรเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถแสดงความคิดเห็นและซักถามได้อย่างเต็มที่
  • การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

      บริษัทต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นที่จะมาลงทุนกับบริษัท ดังนั้นคณะกรรมการจึงควรต้องดูแลการใช้เงินของบริษัทให้เหมาะสมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น และกำกับดูแลให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับการปฏิบัติและปกป้องการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ได้กำหนดนโยบายไว้แล้วข้างต้น

      คณะกรรมการมีนโยบายเห็นควรจัดกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้นในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอเพิ่มวาระการประชุมล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี และเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการล่วงหน้าในเวลาอันสมควร พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันกรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ (Abusive self-dealing) เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider trading) การนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบหรืออาจก่อให้เกิดวามเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวมได้ รวมถึงกำหนดให้คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียของตนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะกรรมการสามารถพิจารณาธุรกรรมของบริษัทที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ และเพื่อให้สามารถตัดสินใจถึงประโยชน์ของบริษัทโดยรวม โดยกรรมการและผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่ทำกับบริษัทไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำธุรกรรมดังกล่าว ดังนั้นจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สำคัญไว้ดังนี้

      • ให้คณะกรรมการบริษัทกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอเพิ่มวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาเข้ารับการเลือกตั้งกรรมการบริษัทล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี พร้อมชี้แจงขั้นตอนและวิธีการที่ชัดเจนและโปร่งใสให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นที่จะนำเสนอระเบียบวาระการประชุมและ/หรือเสนอชื่อกรรมการ ขั้นตอนการเสนอระเบียบวาระการประชุม และ/หรือการเสนอชื่อกรรมการ การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ และกรรมการอิสระ การให้ความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ การจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอ และขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ เป็นต้น โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้า 3-4 เดือนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งเรื่องที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจะได้บรรจุเป็นระเบียบวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีต่อไป
      • คณะกรรมการต้องให้ข้อมูลและเวลาแก่ผู้ถือหุ้นอย่างเพียงพอในการพิจารณาตัดสินใจในแต่ละวาระก่อนการประชุม จึงไม่ควรเพิ่มวาระการประชุมที่ไม่ได้แจ้งเป็นการล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่สำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
      • กำหนดให้กรรมการอิสระ (Independent Directors) เป็นผู้ดูแลผู้ถือหุ้นส่วนน้อย โดยผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอแนะแสดงความคิดเห็นข้อร้องเรียนไปยังกรรมการอิสระผ่านอีเมล์ sompoch@subsrithai.co.th ซึ่งกรรมการอิสระจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการให้ตามความเหมาะสมในแต่ละเรื่อง และกรณีที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม หรือมีผลต่อการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการอิสระจะเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากำหนดเป็นวาระการประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป
      • กำหนดให้มีนโยบายและมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และพนักงานบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ชัดเจน โดยมอบหมายให้เลขานุการบริษัทแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติภาระหน้าที่และบทกำหนดโทษ และให้มีการติดตามผลการปฏิบัติงานตามที่ได้กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมสรุปรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อรับทราบและพิจารณาต่อไป

      กำหนดให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียในการพิจารณาในวาระหรือธุรกรรมใด ต้องรายงานการมีส่วนได้เสียก่อนการพิจารณาในวาระหรือการทำธุรกรรมนั้นๆ และหากกรรมการคนใดมีส่วนได้เสียอย่างเป็นนัยสำคัญ ก รรมการรายดังกล่าวต้องงดการร่วมพิจารณาหรืองดออกเสียงในวาระหรือการทำธุรกรรมนั้นด้วย

  • บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

      ผู้มีส่วนได้เสีย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุน พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ และชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ สังคม หรือภาครัฐ รวมถึงคู่แข่ง และผู้สอบบัญชีอิสระ ควรได้รับการปฏิบัติและการดูแลจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามข้อตกลงที่มีกับบริษัท คณะกรรมการจึงส่งเสริมให้เกิดมีความร่วมมือระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างเสริมผลการดำเนินงานของบริษัท เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับกิจการ และควรเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง ให้กับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นได้รับทราบอย่างเพียงพอ จึงให้กำหนดเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติโดยจัดทำเป็นเอกสาร “คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กรในเรื่อง จรรยาบรรณธุรกิจ จึงเห็นควรกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการจะได้ติดตามให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไปดังนี้

      • แยกกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสียว่ามีกลุ่มใดบ้างตามสิทธิและความรับผิดชอบที่บริษัทต้องปฏิบัติและดูแล เช่น ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและ/เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงพัฒนากระบวนการภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่บริษัทกำหนด
      • กำหนดให้มีการเข้มงวดในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอันมีผลกระทบจากการประกอบธุรกิจโดยตรงอย่างครบถ้วน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมั่นใจว่า การประกอบธุรกิจของบริษัทได้คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคม ตามหลักเกณฑ์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมเผยแพร่ไว้ในรายงานประจำปี หรือเอกสารเผยแพร่ขององค์กร หรือในเว็บไซต์รวมทั้งช่องทางต่างๆ
      • กำหนดให้มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตในสถานประกอบการของพนักงานทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยในการทำงาน
      • กำหนดให้มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่พนักงาน
      • กำหนดให้มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้และศักยภาพของพนักงาน โดยเปิดเผยตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยของการฝึกอบรมของพนักงานต่อปี
      • กำหนดให้มีนโยบายที่จะไม่เกี่ยวข้องและการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเปิดเผยวิธีการปฏิบัติให้เป็นที่ทราบทั่วกัน
      • กำหนดให้มีนโยบายและวิธีปฏิบัติที่ดีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้าและเจ้าหนี้ คู่แข่ง ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและให้เปิดเผยถึงการปฏิบัติไว้ให้เป็นที่ทราบทั่วกัน
      • กำหนดให้มีนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และห้ามให้หรือรับสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติและแนวทางการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย
      • กำหนดให้มีนโยบายหรือแนวทางป้องกันพนักงานหรือผู้แจ้งเบาะแสในการกระทำผิด และกำหนดช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกำหนดผู้รับผิดชอบเพื่อสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจน

      กำหนดให้มีกลไกการติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน “คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ” เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับกิจการ และเปิดโอกาสให้พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องมีช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะต่อกรรมการตรวจสอบและหรือกรรมการอิสระ

  • การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

      การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ครบถ้วน ทันเวลา รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์อย่างเท่าเทียมกันนั้น เป็นหลักที่บริษัทต้องถือปฏิบัติ ด้วยเชื่อมั่นว่าการได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น นักลงทุน รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยสนับสนุนมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว คณะกรรมการจึงต้องดูแลและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อสื่อสารและนำเสนอข่าวและข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือดังนี้

      • นอกจากการให้เผยแพร่ข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนดและผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (56-2) แล้ว กำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งภาษาไทยและอังกฤษผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัท และต้องปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูลบนเว็บไซต์อย่างน้อยควรประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
        • (1) วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท
        • (2) ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท
        • (3) รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร
        • (4) งบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทั้งปัจจุบันและของปี ก่อนหน้า
        • (5) แบบ 56-1 และรายงานประจำปี ที่สามารถให้ดาวน์โหลดได้
        • (6) ข้อมูลหรือเอกสารอื่นใดที่บริษัทนำเสนอต่อนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน หรือสื่อต่างๆ
        • (7) โครงสร้างการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
        • (8) โครงสร้างกลุ่มบริษัท รวมถึงบริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทร่วมค้า
        • (9) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 จำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดและมีสิทธิออกเสียง
        • (10) การถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของกรรมการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง
        • (11) หนังสือเชิญประชุมสามัญและวิสามัญผู้ถือหุ้น
        • (12) ข้อบังคับ หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อตกลงของกลุ่มผู้ถือหุ้น(ถ้าหากมี)
        • (13) นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
        • (14) นโยบายด้านบริหารความเสี่ยง รวมถึงวิธีการจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ
        • (15) กฎบัตร หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ รวมถึงเรื่องที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
        • (16) กฎบัตร หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุดย่อยทุกคณะที่จัดตั้งขึ้น
        • (17) จรรยาบรรณสำหรับพนักงานและกรรมการของบริษัท
        • (18) ข้อมูลติดต่อหน่วยงาน หรือบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลได้ เช่น ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ e-mail address
      • จัดให้มีการรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน แสดงควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งมีเนื้อหารับรองการปฏิบัติตามหลักการบัญชี และมีรายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชี โดยให้ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ลงนามรับรอง
      • ให้จัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (Management Discussion and Analysis หรือ MD&A) เพื่อประกอบการเปิดเผยงบการเงินทุกไตรมาส เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท นอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขในงบการเงินเพียงอย่างเดียว
      • ให้จัดทำผลการปฏิบัติการตามนโยบายของบริษัทในเรื่อง การกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การดูแลและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวได้พร้อมด้วยเหตุผล เผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ในรายงานประจำปี และเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น
      • ให้เปิดเผยบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย จำนวนครั้งของการประชุมและจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมในปีที่ผ่านมา และความเห็นจากการทำหน้าที่
      • กำหนดเป็นนโยบายให้กรรมการและผู้บริหาร ที่ต้องรายงานการถือหลักทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องจัดทำสำเนาแจ้งให้บริษัททราบด้วยโดยผ่านเลขานุการบริษัทภายในวันเดียวกันหรือภายในวันทำการถัดไป นับแต่มีการรายงานดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการตรวจสอบทราบ และจัดเก็บต่อไป ทั้งนี้ให้เลขานุการบริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำสรุปรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/การถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหารหากมีการเปลี่ยนแปลงให้ที่ประชุมคณะกรรมการทราบทุกครั้ง
      • กำหนดเป็นนโยบายให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานการมีส่วนได้เสียของตน และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขข้อกำหนด พ.ร.บ. มหาชน และ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัททราบโดยผ่านเลขานุการบริษัท เพื่อรวบรวมเสนอให้ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันที่บริษัทได้รับรายงานนั้น และเพื่อทำการเก็บรักษาต่อไป ทั้งนี้ให้เลขานุการบริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำสรุปรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารหากมีการเปลี่ยนแปลงให้ที่ประชุมคณะกรรมการทราบทุกครั้ง
      • ให้รายงานนโยบายการกำกับดูแลกิจการและผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย รวมถึงนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลการปฏิบัติตามนโยบายด้วย โดยให้ทำการเปิดเผยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) และ เว็บไซต์ของบริษัท
      • ให้เปิดเผยนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารระดับสูงที่สะท้อนภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งรูปแบบหรือลักษณะของค่าตอบแทน รวมถึงค่าตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นกรรมการของบริษัทย่อยด้วย และนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี หากปีใดไม่มี ควรระบุว่าไม่มี
      • กำหนดให้มีบุคคลในการประสานงานให้ข้อมูลในการเปิดเผยข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ (Contact Person) ดังนี้
        • (1) การเปิดเผยสารสนเทศตามรอบบัญชี ได้แก่ งบการเงินประจำปี และงบการเงินรายไตรมาส แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รายงานประจำปี (แบบ 56-2) โดย ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน
        • (2) การเปิดเผยสารสนเทศตามเหตุการณ์ ได้แก่ รายการได้มา/จำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน รายการที่เกี่ยวโยง กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น การเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้สอบบัญชี มติที่ประชุมคณะกรรมการหรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น โครงการลงทุน เป็นต้น โดยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ หรือผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน
      • 11. ให้กำหนดบุคคลผู้ประสานงาน (Contact Person) กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
        • (1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้กรรมการผู้จัดการ เลขานุการบริษัท หรือผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ หรือผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้ประสานงานบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนดให้กรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ หรือผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้ประสานงาน
  • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

      โครงสร้างคณะกรรมการ

      คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการอีกจำนวนหนึ่งตามที่ผู้ถือหุ้นเสนอเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของกิจการของบริษัท และเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 คน และไม่ควรเกิน 12 คน โดยประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระ และในคณะกรรมการบริษัทจะมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และมีกรรมการที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงปราศจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือความสัมพันธ์อื่นใดอันอาจมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

      กรรมการบริษัทมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยกรรมการที่ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งอาจได้รับการเสนอชื่อให้กลับเข้าดำรงตำแหน่ง และอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิมอีกได้ หากผู้ถือหุ้นพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

      เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริษัทไม่ควรดำรงตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียนรวมถึงบริษัทย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียนเกินกว่า 5 บริษัท และให้เปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งของกรรมการแต่ละคนให้ผู้ถือหุ้นทราบด้วย

      คุณสมบัติของกรรมการอิสระ

      บริษัทได้ปรับปรุงนิยามกรรมการอิสระของบริษัทให้เข้มงวดกว่านิยามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กำหนด ดังนี้

      • ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของทุนชำระแล้วของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และกำหนดคุณสมบัติอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด
      • ไม่มีส่วนร่วมบริหารงานไม่เป็นพนักงาน/ลูกจ้าง/ที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำหรือเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในปัจจุบันและช่วง 2 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
      • ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนในลักษณะที่เป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตรกับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท หรือบริษัทย่อย
      • ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งในปัจจุบันและช่วง 2 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้งในลักษณะดังนี้
        • (1) ไม่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการให้บริการทางวิชาชีพ เช่น ผู้สอบบัญชี ผู้ให้บริการทางวิชาชีพอื่นซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปี เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
        • (2) ไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้า/ทางธุรกิจซึ่งมีมูลค่ารายการตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไปหรือตั้งแต่ร้อยละ 3 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ในการพิจารณามูลค่ารายการให้รวมรายการที่เกิดขึ้นในระหว่าง 6 เดือนก่อนวันที่มีการทำรายการในครั้งล่าสุด
      • ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
      • ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระได้

      ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์

      คณะกรรมการบริษัทประกอบไปด้วยบุคคลผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เคยมีประวัติเสียหาย หรือประวัติต้องห้ามตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีภาวะการเป็นผู้นำสามารถควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจร่วมกับฝ่ายจัดการเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานมีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบด้วยทักษะและความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

      คณะกรรมการบริษัทควรต้องเข้าใจเป็นอย่างดีถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนและเข้าใจถึงลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท มุ่งมั่นพัฒนาการบริการจากประสบการณ์พร้อมคิดค้นให้เกิดนวัตกรรมทางธุรกิจที่สามารถสร้างประโยชน์ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน และมูลค่าเพิ่ม ทั้งต่อธุรกิจและสังคมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันทั้งในระยะใกล้และระยะไกล

      คณะกรรมการบริษัทต้องพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเป็นอิสระและต้องอุทิศเวลาและทุ่มเทให้ความสนใจในธุรกิจของบริษัทอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ทราบถึงโอกาส ความเสี่ยง และประเด็นทางธุรกิจ และพร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมของบริษัทเสมอ เพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ รวมถึงแนวทางในการปรับกระบวนการทำงาน เพื่อพัฒนาไปสู่การค้นพบนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

      การรวมหรือแยกตำแหน่ง

      ประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระที่ไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับประธานกรรมการบริหาร และไม่ได้เป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทจะแต่งตั้งกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนเป็นผู้มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นกรรมการที่เป็นอิสระทำหน้าที่ประธานกรรมการเพื่อรับผิดชอบในการปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องที่ต้องดำเนินการ

      ในการเข้ารับตำแหน่งกรรมการบริษัทและ/หรือกรรมการอิสระ กรรมการแต่ละคนจะได้รับข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบริษัท ข้อบังคับที่ระบุถึงขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท การได้รับคำแนะนำด้านกฎหมาย ก ฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ ในการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงการได้รับการทำความเข้าใจถึงธุรกิจของบริษัท

      บริษัทจะจัดให้กรรมการใหม่มีการปฐมนิเทศโดยการเข้าอบรมในหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล ดังนี้

      • ความสำคัญของคณะกรรมการ
      • บทบาทหน้าที่ของกรรมการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
      • หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการตามกฎหมาย
      • แนวทางสำหรับกรรมการในการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อพึงปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

      สำหรับกรรมการที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ในคณะกรรมการของบริษัท บริษัทได้จัดเตรียมเอกสารให้กรรมการใหม่ได้รับทราบนโยบายธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างทุน ผู้ถือหุ้น ผลการดำเนินงาน รวมทั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ พร้อมทั้งส่งมอบคู่มือสำหรับกรรมการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการเป็นกรรมการบริษัทให้กับกรรมการ ทั้งนี้ คู่มือกรรมการประกอบด้วย

      • พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง)
      • ข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน
      • จรรยาบรรณธุรกิจ
      • หนังสือรับรองบริษัท วัตถุประสงค์และข้อบังคับ
      • คู่มือกรรมการบริษัทจดทะเบียนของ ก.ล.ต
      • หนังสือรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียน
      • หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555
      • รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปีของบริษัทฉบับล่าสุด

      ในกรณีกรรมการที่ยังไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรกรรมการบริษัท บริษัทจะดำเนินการส่งเข้ารับการอบรม โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

      บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัท

      • รับผิดชอบในฐานะผู้นำของคณะกรรมการในการกำกับ ติดตาม ดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการบริหาร และคณะอนุกรรมการอื่นๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนงานที่กำหนดไว้
      • เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัท
      • เป็นผู้ลงคะแนนเสียงชี้ขาดในกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีการลงคะแนนเสียง และคะแนนเสียง 2 ฝ่ายเท่ากัน

      บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

      ปฏิบัติหน้าที่ดูแลและจัดการดำเนินการของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น กฎกระทรวง หรือ พระราชบัญญัติอันเกี่ยวด้วยการประกอบกิจการของบริษัท ตลอดจนหลักเกณฑ์และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

      ปฏิบัติหน้าที่ของตนและบริหารงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน (Stakeholders)

      ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากการทำงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม บริหารงานด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนต่อผลประโยชน์ของบริษัท เพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ รวมถึง

      • ไม่หาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเป็นกรรมการ
      • ไม่ใช้ความลับของบริษัทในทางที่ผิด
      • ไม่เป็นกรรมการในบริษัทที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันหรือเป็นคู่แข่งขันทางการค้าของบริษัท
      • ไม่มีผลประโยชน์ในการทำสัญญาของบริษัท

      กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานการดำเนินธุรกิจของบริษัท และงบประมาณของบริษัท

      ติดตาม และกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่กิจการและความมั่นคงสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

      จัดให้มีและกำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันรักษาและดูแลเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น และทรัพย์สินของบริษัทอยู่เสมอ กำหนดระเบียบปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เป็นอิสระ รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้

      จัดให้มีระบบบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ครอบคลุมปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ การเงิน การบริการ และการปฏิบัติการด้านอื่นๆ พิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดและระดับความรุนแรงของผลกระทบ กำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการรายงานและการติดตามประเมินผล โดยจัดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในระดับจัดการ มีหน้าที่นำเสนอแผนและผลการปฏิบัติตามแผนต่อคณะกรรมการบริหารเป็นประจำ

      จัดให้มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน และการสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ รวมทั้งดูแลให้มีกระบวนการในการประเมินความเพียงพอของการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการความเสี่ยง การรายงานทางการเงิน และการติดตามและประเมินผล

      ดูแลและจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งการใช้ทรัพย์สินของบริษัทใน ทางมิชอบและการกระทำที่ไม่ถูกต้องในรายการระหว่างบุคคลที่เกี่ยวโยงกันอย่างรอบคอบ โดยผู้มีส่วนได้เสียต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

      แต่งตั้งมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือบุคคลอื่นใดให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อช่วยดูแลรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายใน และระบบการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้

      การประชุมของคณะกรรมการบริษัท

      คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน และให้มีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น

      การนัดหมายประชุมให้เลขานุการบริษัททำหน้าที่ประสานงานนัดหมายกรรมการทุกท่านล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และให้จัดทำเป็นหนังสือเชิญประชุมโดยกำหนดวาระ วัน เวลา และสถานที่ประชุมพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาให้ชัดเจน และแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้กรรมการได้มีเวลาในการพิจารณาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ เว้นแต่ในกรณีเร่งด่วนให้สามารถแจ้งโดยวิธีอื่นได้ตามที่กรรมการจะสามารถรับทราบได้

      องค์ประชุมของคณะกรรมการบริษัท คือ ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

      ในที่ประชุม ประธานทำหน้าที่ดำเนินการประชุมตามวาระที่แจ้งไว้ และสรุปประเด็นเรื่องในวาระการประชุมเพื่อการพิจารณาของกรรมการ พร้อมประมวลความเห็นและสรุปมติที่ประชุม โดยเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เว้นแต่กรรมการผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ประธานต้องเชิญออกจากที่ประชุมระหว่างการพิจารณาในเรื่องนั้นๆ

      ในการพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด กรรมการมีสิทธิ์ขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขอให้ฝ่ายบริหารชี้แจงรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้

      การลงมติให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก และหากมีกรรมการคัดค้านมติดังกล่าวให้บันทึกคำคัดค้านนั้นไว้ในรายงานการประชุมด้วย อนึ่งกรรมการผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ ให้งดออกเสียง

      การประชุมของคณะกรรมการบริษัท

      คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงาน และทบทวนว่าได้มีการกำกับดูแลให้มีการกำหนดและดำเนินการต่างๆได้อย่างเพียงพอและใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนฝ่ายบริหารเพื่อนำไปปรับปรุง และพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง

      การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

      ด้วยค่าตอบแทนเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของกรรมการโดยตรง ดังนั้นกรรมการจึงไม่สามารถอนุมัติค่าตอบแทนของตนเองได้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีกระบวนการกำหนดค่าตอบแทนที่โปร่งใสและขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี ในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะจูงใจและรักษากรรมการที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ

      การพิจารณาค่าตอบแทนของคณะกรรมการ คณะกรรมการจะพิจารณาจากการเปรียบเทียบกับระดับที่ปฏิบัติอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผลการประกอบการของบริษัท และหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ โดยการพิจาณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ อยู่ในอำนาจอนุมัติของการประชุมผู้ถือหุ้น และกรรมการที่เป็นกรรมการชุดย่อยจะได้รับค่าตอบแทนตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ สำหรับค่าตอบแทนกรรมการผู้จัดการ ให้เป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด โดยเชื่อมโยงกับผลดำเนินงานของบริษัท และผลการปฏิบัติงาน

      เลขานุการบริษัท

      คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีเลขานุการบริษัท ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องทราบและปฏิบัติ ประสานงาน และจัดเตรียมระเบียบวาระการประชุม จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนกรรมการ จัดทำหนังสือเชิญประชุม เอกสารการประชุม แจ้งล่วงหน้าก่อนการประชุมเป็นเวลาเพียงพอสำหรับการศึกษาและพิจารณาเรื่องที่จะประชุม เพื่อให้ความเห็นและออกเสียงลงคะแนน ดูแลและจัดการประชุมให้ดำเนินการได้ด้วยดี และเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท จดรายงานการประชุม จัดเก็บรายงานการประชุมและเอกสารเกี่ยวกับการประชุม รายงานประจำปี และรายงานการมีส่วนได้เสียที่รายงานโดยกรรมการและผู้บริหาร โดยสำเนาส่งให้ประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทได้รับรายงานนั้น ประสานงานให้มีการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทประกาศใช้ พร้อมทั้งดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

      ทั้งนี้เลขานุการบริษัทต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์ รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท มติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุม ผู้ถือหุ้น

      ในกรณีที่เลขานุการบริษัทพ้นจากตำแหน่ง หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะกรรมการแต่งตั้งเลขานุการบริษัทคนใหม่ภายใน 90 วันนับแต่วันที่เลขานุการบริษัทคนเดิมพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ประธานกรรมการแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 14 วันนับแต่วันที่จัดให้มีผู้รับผิดชอบในตำแหน่งดังกล่าว พร้อมแจ้งสถานที่จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการประชุม ทะเบียนกรรมการ และรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหาร

      คณะกรรมการย่อย

      คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งกรรมการจำนวนหนึ่งจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีคุณสมบัติและความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมเป็นกรรมการในคณะกรรมการย่อยที่คณะกรรมการบริษัทได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบในเรื่องสำคัญและเกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามและควบคุมการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัท อันได้แก่ คณะกรรมการบริหารคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

      คณะกรรมการบริหาร

      คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 2 คน มีอำนาจหน้าที่ ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายดังนี้

      • กำหนดแนวทางการพัฒนาและการขยายงานของกิจการให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท พร้อมประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับธุรกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมถึงกำหนดแนวทางการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกรรม
      • กำหนดแผนธุรกิจ งบประมาณ และอำนาจการบริหารต่างๆ ของบริษัท เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ
      • ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย และแนวทางการบริหารงานด้านต่างๆ ของบริษัทตามที่กำหนด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเอื้อต่อสภาพการดำเนินธุรกิจ
      • พิจารณาโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท โดยทำการวิเคราะห์โครงการลงทุน ความเสี่ยง และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนำเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ
      • พิจารณากลั่นกรองข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในเรื่องที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อการพิจารณาอย่างละเอียดและถูกต้อง
      • รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินงาน และสถานะความเสี่ยงของบริษัท และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงเรื่องที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่กำหนด โดยจัดให้มีคณะทำงานบริหารความเสี่ยงพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละฝ่าย และเชื่อมโยงรวมเป็นความเสี่ยงขององค์กร เพื่อกำหนดวิธีการจัดการหรือแนวทางการป้องกันกับความเสี่ยงที่ระบุไว้ พร้อมติดตามและประเมินผลต่อไปอย่างต่อเนื่อง
      • อนุมัติจัดการอันเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทดังนี้
        • อนุมัติรายจ่ายที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินมูลค่า 10.00 ล้านบาท
        • อนุมัติรายจ่ายที่ถือเป็นสินทรัพย์ไม่เกินมูลค่า 50.00 ล้านบาท
        • อนุมัติการรับจำนำสินค้าต่อรายไม่เกินมูลค่า 100.00 ล้านบาท
      • มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่ต่ำกว่าตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
      • ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายเป็นคราวๆ ไป

      การประชุมของคณะกรรมการบริหาร

      • คณะกรรมการบริหารจะต้องจัดให้มีหรือเรียกประชุมตามที่เห็นสมควร
      • มติของคณะกรรมการบริหารจะถือตามเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุมครบองค์ประชุม ทั้งนี้ กรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องใดจะต้องไม่เข้าร่วมในการพิจารณาหรือลงมติเกี่ยวกับเรื่องนั้น
      • การประชุมคณะกรรมการบริหารต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม

      คณะทำงานบริหารความเสี่ยง

      คณะทำงานบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่าย รองผู้จัดการฝ่าย และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย เพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละฝ่าย จากนั้นให้พิจารณาถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างความเสี่ยงของแต่ละฝ่าย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการบริหารความเสี่ยงโดยรวมขององค์กรและให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าประสงค์ของบริษัท พร้อมติดตามรายงานต่อคณะกรรมการบริหารเป็นประจำทุก 6 เดือน และให้จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยงที่มีองค์ประกอบครบถ้วน สามารถเผยแพร่ให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับได้รับทราบและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้

        องค์ประกอบหลักของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีคือ
        • กำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตของการดำเนินงาน ระยะเวลา และกิจกรรมในการดำเนินการ รวมถึงการกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง
        • ระบุความเสี่ยง โดยพิจารณาว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการขององค์กร เช่น ด้านการเงิน ด้านการดำเนินงาน ด้านการจัดการ ด้านการตลาด รวมถึงความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของกิจการ เป็นต้น
        • ระบุถึงระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากความเสี่ยงแต่ละประเภท (ระดับความเสี่ยง = ระดับของความรุนแรง x โอกาสของการเกิดความเสี่ยง) และมีการจัดลำดับความเสี่ยงจากผลการวิเคราะห์ความเสี่ยง ข้างต้น
        • กำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการต่อความเสี่ยงที่ระบุไว้
        • การทำรายงานการบริหารความเสี่ยงและการประเมินผลการบริหารความเสี่ยง
        • ติดตามทบทวนความเพียงพอของนโยบายและระบบการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิผลของระบบและการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง

      กรรมการผู้จัดการ

      มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้กรรมการผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจปกติของบริษัท และดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามมติคณะกรรมการบริษัทและมติคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

      • รับผิดชอบในการบริหารงานทั้งปวงของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท
      • อนุมัติจัดการอันเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทดังนี้
        • อนุมัติรายจ่ายที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินมูลค่า 2.00 ล้านบาท
        • อนุมัติรายจ่ายที่ถือเป็นสินทรัพย์ไม่เกินมูลค่า 10.00 ล้านบาท
        • อนุมัติการรับจำนำสินค้าต่อรายไม่เกินมูลค่า 20.00 ล้านบาท
      • สร้างวิสัยทัศน์และกำหนดพันธกิจ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาองค์กรใน ระยะยาว
      • รับผิดชอบผลประกอบการทางธุรกิจและพัฒนาธุรกิจให้ครบวงจร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในอัตราที่เหมาะสม
      • ตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้า โดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพียงพอ ทันต่อเวลาในทุกสถานการณ์ในราคาที่เป็นธรรม
      • พัฒนาบริษัทให้ประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ปฏิบัติตามกฎหมาย ศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
      • พัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเต็มศักยภาพ สร้างวัฒนธรรมองค์กร จรรยาบรรณในวิชาชีพ
      • ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ กระบวนการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ
      • อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหาร

      การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ

      คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการเป็นประจำทุกปี เนื่องจากกรรมการผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท โดยให้กรรมการแต่ละท่านทำการประเมิน โดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท เพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนและเงินรางวัลจูงใจที่เหมาะสม

      คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล

      คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล ประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติความเป็นอิสระตามประกาศและหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างน้อย 3 คน และอย่างน้อย 1 คนต้องมีความรู้ด้านบัญชี/การเงิน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี กรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลที่ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ารับดำรงตำแหน่งอีกได้ หากคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร

        คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลโดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
        • สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
        • สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน (internal control) และระบบการตรวจสอบภายใน (internal audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
        • สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
        • พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และเสนอค่าตอบแทนของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
        • พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
        • จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ใน รายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
          • ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
          • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัท
          • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
          • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
          • ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
          • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
          • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบ ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (charter)
          • รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
        • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
        • รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทหากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร ซึ่งได้แก่ รายการที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การทุจริตหรือมีสิ่งผิดปกติหรือมีความบกพร่องที่สำคัญในระบบควบคุมภายใน การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท หากคณะกรรมการของบริษัทไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กรรมการตรวจสอบรายใดรายหนึ่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
        • ศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหว แนวโน้ม การปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาความเหมาะสมในการนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัท
        • พัฒนาและเสนอแนะนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท พร้อมทั้งจรรยาบรรณธุรกิจต่อคณะกรรมการบริษัท รวมถึงทบทวนและปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
        • ติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและหลักปฏิบัติตามกรอบจริยธรรม ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ

      คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ

      คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการอิสระ 2 ใน 3 โดยประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องเป็นกรรมการอิสระ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี ทั้งนี้กรรมการสรรหาฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้ หากคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร โดยมีหน้าที่ดังนี้

      • พิจาณาหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหา รวมทั้งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการชุดย่อย และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อนำชื่อเสนอต่อที่ประชุมถือหุ้น หรือนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
      • พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
      • พิจารณากำหนดแนวทางและหัวข้อในการประเมินการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ เป็นประจำทุกปี โดยคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
      • เสนอนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่นสำหรับคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ พร้อมทั้งพิจาณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนสำหรับกรรมการบริษัท กรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความรับผิดชอบและผลการดำเนินงานของบริษัท เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้อนุมัติค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการ สำหรับค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท และกรรมการชุดย่อย คณะกรรมการบริษัทจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้พิจารณาอนุมัติต่อไปภารกิจอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย
  • จรรยาบรรณธุรกิจ

      เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้ทบทวน ปรับปรุง ข้อประพฤติปฏิบัติให้เป็นสากลและมีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสำหรับให้กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานยึดถือและปฏิบัติ โดยให้รวบรวมข้อพึงปฏิบัติดังกล่าวจัดทำเป็นเอกสาร “คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

      การดูแลให้มีการปฏิบัติตามและการทบทวน

      การดูแลให้มีการปฏิบัติตามและการทบทวนคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล กำหนดให้มีกลไกในการติดตามในการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นในเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจ โดยกำหนดให้มีการทบทวน “นโยบายการกำกับดูแลกิจการ” และ “คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ” อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

  • นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

      สารจากประธานกรรมการบริษัท

      บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงความความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และเล็งเห็นว่าความสำคัญของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และทำให้การดำเนินธุรกิจมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทได้จัดทำนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นไว้เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

      เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยครอบคลุมถึงธุรกิจของบริษัทย่อย หรือบริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม และตัวแทนทางธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติตามนโยบายนี้ รวมถึงการสอบทานมาตรการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายธุรกิจ และรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนปฏิบัติตามนโยบายนี้โดยทั่วกัน

      นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาทบทวนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศ



      (นายสมโภชน์ อินทรานุกูล)
      ประธานกรรมการ
      วันที่ 4 มกราคม 2559

      นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

      • บทนำ

      บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชั่น ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ

      เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าว บริษัทจึงได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นหนึ่งในแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดทำและประกาศใช้นโยบายการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Corporate Governance and Business Code of Conduct) ของบริษัทตลอดจนเพื่อให้บุคลากรทุกระดับยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานและให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของบริษัท

      นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาทบทวนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศ


      • วัตถุประสงค์ของนโยบายฉบับนี้

      • เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติให้บริษัท กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานถือปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • เพื่อส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

      • ขอบเขตของนโยบายฉบับนี้

      • นโยบายฉบับนี้บังคับใช้กับคณะกรรมการทุกคณะ ที่ปรึกษา พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท
      • บริษัทมุ่งหวังให้ตัวแทน และ/หรือตัวกลางทางธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง หรือกระทำการในนามบริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อยปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ หรือมีแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามนโยบายฉบับนี้ด้วย

      • คำนิยามตามนโยบายฉบับนี้

      การทุจริต หรือ คอร์รัปชั่น หมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การนำเสนอ หรือการให้คำมั่นว่าจะให้ การขอ หรือการเรียกร้อง ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใดที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท หรือบริษัทในกลุ่ม ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้ ทั้งต่อองค์กร ตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
      การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การบริจาคเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดที่จัดตั้งขึ้นโดยอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เช่น องค์กรการกุศล หรือมูลนิธิ เป็นต้น
      การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
      การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
      เงินสนับสนุน หมายถึง เงินสนับสนุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของผู้ให้เงินสนับสนุน
      ผู้เกี่ยวข้อง หมายถึง คู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้อง/ญาติสนิท ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับของบริษัทและบริษัทในกลุ่ม
      บริษัทย่อย หมายถึง บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยที่บริษัทถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น

      • หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

      คณะกรรมการบริษัท

      • เป็นผู้พิจารณาอนุมัตินโยบายและกำกับดูแลการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
      • สนับสนุนให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในบริษัทและทุกคนในบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา
      • มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พิจารณาบทลงโทษจากการได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบ และร่วมแก้ไขปัญหาให้กับกรรมการผู้จัดการ

      คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล

      • พิจารณานโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่ได้รับจากกรรมการผู้จัดการให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ
      • กำกับดูแลการควบคุมภายในการจัดทำรายงานทางการเงินและกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
      • ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโอกาสการทุจริตที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท
      • รับเรื่องแจ้งเบาะแสการกระทำการทุจริต และตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทร่วมพิจารณาลงโทษ หรือแก้ไขปัญหา

      ผู้ตรวจสอบภายใน

      • ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้ และเสนอรายงานการตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน และการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการตรวจสอบระบบการควบคุมภายในให้คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบ
      • ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับมอบหมายในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนอกเหนือจากแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้

      กรรมการผู้จัดการ

      • กำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริต เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
      • สื่อสารกับบุคคลในองค์กร และผู้เกี่ยวข้องให้ได้ทราบถึงนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • ทบทวนความเหมาะสมของนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หรือข้อกำหนดของกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
      • คอยช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจสอบในการสืบหาข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องการทุจริต โดยสามารถมอบหมายงานให้กับทีมผู้บริหารที่เห็นว่าสามารถช่วยสืบหาข้อเท็จจริงได้
      • พิจารณาบทลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาจากข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและระเบียบข้อบังคับของบริษัท

      ผู้จัดการฝ่าย

      • ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบและเข้าใจนโยบายฉบับนี้ เพื่อให้ทราบและปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ได้ ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการอบรมและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
      • เป็นผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ที่ถูกร้องเรียน

      พนักงานบริษัทฯ ทุกระดับชั้น

      • ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ และในกรณีที่พบเห็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนนโยบายฉบับนี้จะต้องรีบรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ตามนโยบายฉบับนี้

      เลขานุการบริษัท

      • ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • กำกับ/สอบทาน การปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • รายงานผลการปฏิบัติงานและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายฉบับนี้

      ฝ่ายปฏิบัติการ

      • อบรม/เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
      • ให้คำปรึกษาเพื่อให้การลงโทษเป็นไปตามระเบียบวินัยของบริษัทหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

      • นโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

      บุคลากรทุกระดับของบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม นโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้


      การรับหรือมอบของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรอง

      บริษัทมีนโยบายไม่ให้รับหรือมอบของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรอง หรือประโยชน์อื่น จากลูกค้า/ให้ลูกค้า หรือบุคคลอื่นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทอันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน

      ทั้งนี้ ให้สามารถจ่ายและรับเงินที่เกี่ยวเนื่องกับค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงรับรอง และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจสามารถกระทำได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล เข้าข่ายลักษณะเป็นการให้บริการลูกค้าปกติของธุรกิจ หรือตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือตามเทศกาล สามารถตรวจสอบได้


      การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน

      • ในการบริจาคเพื่อการกุศลต้องปฏิบัติดังนี้
        • การใช้เงิน หรือ ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อบริจาคการกุศล ต้องกระทำในนามบริษัทเท่านั้น โดยการบริจาคเพื่อการกุศล ต้องเป็นมูลนิธิ องค์กรสาธารณะกุศล วัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่มีใบรับรองหรือเชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบได้และดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท
        • การบริจาคเพื่อการกุศลในนามส่วนตัวพึงกระทำได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์ใด
      • ในการให้เงินสนับสนุนต้องใช้เงิน หรือ ทรัพย์สินของบริษัท เพื่อสนับสนุนโครงการ ต้องระบุชื่อในนามบริษัทเท่านั้น โดยเงินสนับสนุนที่จ่ายไปต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่ดีและชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้การเบิกจ่ายต้องระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ และดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทฯ

      การจัดซื้อจัดจ้าง

      ในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และข้อบังคับซึ่งออกโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)


      การช่วยเหลือทางการเมือง

      บริษัทไม่สนับสนุนการกระทำอันใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในบริษัท และไม่ให้ใช้ทรัพยากรใดของบริษัท เพื่อดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีแนวทางในการให้การช่วยเหลือทางการเมือง แก่พรรคการเมืองใดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม


      การประเมินความเสี่ยง

      ผู้บริหารของบริษัทต้องมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดสินบนและการคอร์รัปชั่น และจะต้องสื่อสารไปยังพนักงานในระดับต่างๆ ให้เข้าใจและให้ความร่วมมือ

      บริษัทจะจัดทำการประเมินความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทที่อาจมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่เข้าข่ายการติดสินบนและการคอร์รัปชั่น โดยทำการทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงลงให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้


      การควบคุมภายในและการบันทึกข้อมูล การตรวจสอบทางการเงิน

      บริษัทกำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อการจัดการคอร์รัปชั่น โดยครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินการของกระบวนการทางบัญชีและการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป มีคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานมาตรการและควบคุมภายในที่เกี่ยวข้อง และมีการอนุมัติถูกต้องตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนดไว้ตลอดจนมีระบบการตรวจสอบรายงานทางการเงินจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้รายงานทางการเงินมีความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท

      บริษัทมีการควบคุมการจัดเก็บเอกสารทางบัญชีอย่างเพียงพอและปลอดภัย เพื่อใช้ในการตรวจสอบได้ทันที มีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลทางบัญชี และมีการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลสำรองอย่างปลอดภัย


      การบริหารทรัพยากรบุคคล

      บริษัทจะนำนโยบายฉบับนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการบริหารงานบุคคลของบริษัท และรวมถึงทุกกระบวนการในด้านการบริหารงานบุคคล เช่น การสรรหา การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง และการยกย่อง จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งนี้จะต้องไม่มีพนักงานรายใดที่จะถูกลดขั้น ถูกลงโทษ หรือได้รับผลกระทบในทางลบ จากการปฏิเสธการจ่ายสินบน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปก็ตาม


      การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการฝึกอบรม

      บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และทำความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น เพื่อให้บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น ติดประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถานที่ที่เด่นชัดทุกคน ในองค์กรสามารถอ่านได้, Website, E-mail, Internet, จดหมาย และรายงานประจำปี เป็นต้น อีกทั้งบริษัทจะจัดให้มีการอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริตกับพนักงานใหม่ทุกคน และสนับสนุนให้กรรมการ และพนักงานเข้ารับการอบรมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น


      การแจ้งเบาะแสและหรือข้อร้องเรียน

      บริษัทมีนโยบายให้พนักงานทุกคนไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชั่น หรือส่อไปในทางทุจริตและคอร์รัปชั่นที่มีผลเกี่ยวข้องกับบริษัท โดยทั้งทางตรงหรือทางอ้อม พนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสังสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามนโยบายนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้ดังนี้

      • กรรมการผู้จัดการ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้
        • E-mail : supasith@subsrithai.co.th
        • จัดส่งทางไปรษณีย์ ที่ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
          เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
      • เลขานุการบริษัท โดยจดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง - ที่
        เลขานุการบริษัท บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
        เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
      • คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้
        • E-mail
          ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ Email : sompoch@subsrithai.co.th
          เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ Email : pavinee@ivlaudit.com
          เพื่อนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ พิจารณาสอบสวนและรายงานต่อ คณะกรรมบริษัทต่อไป
        • จดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง – ที่
          คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ
          บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
          เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

      บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือพนักงานที่แจ้งเรื่องทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือ ในการแจ้งและรายงานการทุจริตและคอร์รัปชั่นตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสการทำผิดหรือข้อร้องเรียน


      การแจ้งเบาะแสและหรือข้อร้องเรียน

      • ผู้ที่กระทำทุจริตและคอร์รัปชั่น ถือเป็นการกระทำผิดนโยบายของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
      • ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ให้บริการ หรือผู้รับเหมาใดๆ ของบริษัทที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับแนวทางตามนโยบายฉบับนี้ บริษัทอาจพิจารณายุติการทำธุรกรรมกับบุคคลดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร

      วันที่ใช้บังคับ

      นโยบายฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป

      ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ติดต่อหรือสอบถามได้ที่เลขานุการบริษัท E-mail: supasith@subsrithai.co.th
      หรือ ฝ่ายปฏิบัติการ E-mail: patcharee@subsrithai.co.th

      ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2559



      นายศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์
      กรรมการผู้จัดการ
  • นโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน

      นโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน

      บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ส่งเสริมให้ผู้บริหาร และพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทและบริษัทคาดหวังให้ ทุกคนรายงานโดยสุจริตถึงการปฏิบัติที่ขัดหรือสงสัยว่าจะขัดต่อเรื่องดังกล่าวให้บริษัททราบ เพื่อจะได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนิน การเพื่อให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส และยุติธรรม บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียนและให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ดังนี้


      1. ขอบเขตของการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน

      เมื่อมีข้อสงสัยหรือเชื่อว่ามีเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบริษัท พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ควรสอบถาม หรือปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามหากพนักงานไม่แน่ใจหรือไม่สะดวกใจที่จะทำเช่นนั้น พนักงานสามารถแจ้งเรื่องได้โดยตรง ดังนี้

      • กรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นหรือเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป แจ้งเรื่องได้ที่ เลขานุการบริษัท หรือ คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล
      • กรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรรมการผู้จัดการ หรือ ประธานกรรมการบริหาร แจ้งเรื่องโดยตรง ได้ที่ คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล

      2. บุคคลผู้สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน

      พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทรวมถึงบุคคลภายนอก ที่พบเห็นหรือทราบหรือสงสัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบริษัท โดยผู้บริหาร และพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของบริษัท


      3. การให้ความคุ้มครองบุคคลผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียนและการรักษาความลับ

      ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจะได้รับความคุ้มครองดังนี้

        3.1. ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น

        3.2. บริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนหรือบุคคลที่ที่ให้ถ้อยคำ ให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง และข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง และจะเปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

        3.3. บุคคลใดๆ ที่ได้รับทราบเรื่องร้องเรียน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนตามที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ จะต้องปกป้องข้อมูลเรื่องร้องเรียน หรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน ให้เป็นความลับ และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน แหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นในขั้นตอนการดำเนินการตามนโยบายฉบับนี้ หรือตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการจงใจฝ่าฝืนนำข้อมูลออกไปเปิดเผย บริษัทจะดำเนินการลงโทษทางวินัย และ/หรือ ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน (แล้วแต่กรณี)


      4. ช่องทางในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน

        4.1. กรรมการผู้จัดการ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้

        • E-mail : supasith@subsrithai.co.th
        • จัดส่งทางไปรษณีย์ - ที่
          บริษัท บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
          เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

        4.2. เลขานุการบริษัท โดยจดหมายจัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง - ที่
        เลขานุการบริษัท บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
        เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

        4.3. คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมภิบาล สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้

        • E-mail
          • ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล Email : sompoch@subsrithai.co.th
          • เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล Email : pavinee@ivlaudit.com เพื่อนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล พิจารณาสอบสวนและรายงานต่อคณะกรรมบริษัทต่อไป
        • จดหมายจัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง - ที่
          คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมภิบาล
          บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
          เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310


      5. กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง

        5.1. ผู้แจ้งข้อมูล (Caller or Claimer): ผู้ที่ทราบเรื่องหรือสงสัยโดยสุจริตว่ามีการกระทำผิดโดยผู้มีอำนาจกระทำการ พนักงาน หรือตัวแทนของบริษัท สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตาม

        5.2. ผู้รับเรื่องร้องเรียน (Report Receiver) ได้แก่ กรรมการผู้จัดการ, เลขานุการบริษัท, คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล หรือผู้บังคับบัญชา

        5.3. ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียน (Case Coordinator): ผู้ทำหน้าที่รับเรื่อง และเก็บข้อมูลเบื้องต้น และเก็บ ผลสรุปของการดำเนินงาน โดยกำหนดให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียน

        5.4. ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียน (Case Owner): ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ที่ถูกร้องเรียน หรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปของหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน และในกรณีที่ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่อยู่ปฏิบัติงานเป็นระยะยาว ให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปของผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนแทน

        5.5. ผู้ดูแลเรื่องระเบียบวินัย (Human Resources, HR): ฝ่ายปฏิบัติการ

        5.6. กรรมการผู้จัดการ (Managing Director, MD): ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของบริษัท


      6. ขั้นตอนการดำเนินการ

        6.1. การรับเรื่องร้องเรียน

        ผู้รับเรื่องร้องเรียน ส่งเรื่องให้ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียน ภายใน 3 วันทำการ เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

        • ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลจากผู้ร้องเรียน ได้แก่ ชื่อผู้ร้องเรียน (ยกเว้นกรณีที่ไม่ได้ระบุชื่อ), วันที่ร้องเรียน, ชื่อบุคคลและเหตุการณ์ที่ร้องเรียน
        • จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ร้องเรียน หากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทอย่างร้ายแรงให้ดำเนินการทันที ส่วนกรณีอื่นให้ดำเนินการโดยเร็วหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับเรื่องจากผู้รับเรื่องร้องเรียน
        • ส่งเรื่องให้ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนดำเนินการหาข้อเท็จจริง
        • กรณีเป็นข้อร้องเรียนเกี่ยวข้องกับกรรมการผู้จัดการ หรือ ประธานกรรมการบริหาร ให้ส่งไปที่คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล

        6.2. การตรวจสอบข้อเท็จจริงและสั่งการ

        • ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนดำเนินการหาข้อเท็จจริง และให้ข้อแนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดให้มีการประพฤติหรือปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป หากต้องมีการลงโทษทางวินัย ให้ดำเนินการสั่งลงโทษโดยปรึกษากับฝ่ายปฏิบัติการ (งานบุคคล) เพื่อให้การลงโทษทางวินัยเป็นไปตามระเบียบที่บริษัทกำหนด และหากผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนไม่มีอำนาจสั่งลงโทษ ก็ให้เสนอเรื่องไปตามลำดับชั้นถึงผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี และให้ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนส่งผลการหาข้อเท็จจริง การดำเนินการ และการสั่งลงโทษแล้วแต่กรณีไปให้กรรมการผู้จัดการโดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อทราบหรือพิจารณาสั่งการด้วย และส่งสำเนาเรื่องให้ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนทราบเพื่อรายงานแก่คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลด้วย
        • กรณีเป็นเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ไม่ระบุชื่อ และไม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เพียงพอให้ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนส่งรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนนั้นไปที่กรรมการผู้จัดการ โดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป หากกรรมการผู้จัดการเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการเรื่องร้องเรียนได้ ข้อร้องเรียนนั้นจะถูกปิดเรื่องไป และผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนจัดส่งสำเนาเรื่องร้องเรียนให้ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนทราบเพื่อรายงานแก่คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลด้วย
        • หากผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าผู้ถูกร้องเรียนไม่มีความผิด หรือเป็นเรื่องที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือได้ให้ข้อแนะนำแก่ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีการประพฤติหรือ ปฏิบัติที่เหมาะสมแล้ว และพิจารณาเห็นว่าควรให้ปิดเรื่องโดยไม่มีการลงโทษใดๆ ให้ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนเสนอเรื่องดังกล่าวแก่ผู้บังคับบัญชาระดับผู้จัดการฝ่าย เพื่อขออนุมัติปิดเรื่องและสำเนาเรื่องให้ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนเพื่อแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบและรายงานต่อกรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลต่อไป
        • กรณีเป็นข้อร้องเรียนเกี่ยวข้องกับ กรรมการผู้จัดการ หรือ ประธานกรรมการบริหาร ให้พิจารณา ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลและส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาสั่งการ หรือคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อทำหน้าที่เห็นว่าเหมาะสม

        6.3. การแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อผู้ร้องเรียน และการปรับปรุงแก้ไข

        • เมื่อกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล หรือคณะกรรมการบริษัท พิจารณาสั่งการ (แล้วแต่กรณี) และผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนได้ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนต้องรายงานผลการดำเนินการให้กรรมการผู้จัดการ และผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนทราบ รวมถึงการรายงานผลการปรับปรุงแก้ไข (ถ้ามี)
        • ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนมีหน้าที่แจ้งผลการดำเนินการให้กับผู้ร้องเรียนทราบ และบันทึกผลของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนไว้ รวมถึงการติดตามผลการปรับปรุงแก้ไข (ถ้ามี) และรายงานให้กรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลทราบเป็นรายไตรมาส

        6.3. การแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อผู้ร้องเรียน และการปรับปรุงแก้ไข

        • เมื่อกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล หรือคณะกรรมการบริษัท พิจารณาสั่งการ (แล้วแต่กรณี) และผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนได้ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนต้องรายงานผลการดำเนินการให้กรรมการผู้จัดการ และผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนทราบ รวมถึงการรายงานผลการปรับปรุงแก้ไข (ถ้ามี)
        • ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนมีหน้าที่แจ้งผลการดำเนินการให้กับผู้ร้องเรียนทราบ และบันทึกผลของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนไว้ รวมถึงการติดตามผลการปรับปรุงแก้ไข (ถ้ามี) และรายงานให้กรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาลทราบเป็นรายไตรมาส

        6.4. การร้องเรียนโดยไม่สุจริตหรือผิดช่องทาง

        การแจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส ให้ถ้อยคำ หรือให้ข้อมูลใดๆ ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระทำโดยไม่สุจริต หรือทำผิดช่องทาง ถ้าเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัท บุคคลนั้นจะได้รับโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนด แต่หากเป็นบุคคลภายนอก และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทจะพิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลนั้นๆ ด้วย

        6.5. ความรับผิดชอบของผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียน ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียน และ ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป

        ในกรณีที่ผู้ประสานงานเรื่องร้องเรียนหรือผู้ดูแลเรื่องร้องเรียน และผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปของผู้ร้องเรียนละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยด้วย


      ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2559



      นายศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์
      กรรมการผู้จัดการ
  • คำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต

      คำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต

      จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจเอกชนตามแบบสำรวจ เรื่อง "การสร้างแนวร่วมปฎิบัติ (Collective Action) ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น" ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ร่วมกับ หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นว่าการทุจริตในทุกรูปแบบเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศ

      อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

 คู่มือ
     
 
คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ
 
     
 หนังสือรับรอง
 
หนังสือรับรองการเป็นบริษัท
 
     
 
หนังสือบริคณฑ์สนธิ
 
     
 
ข้อบังคับบริษัท
 

 

 

บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)

ที่อยู่คลังสินค้าและเอกสาร :

115,115/7-10 หมู่ที่ 6,ซอยสุขสวัสดิ์ 76 ตำบลบางจาก
อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

ที่อยู่คลังสินค้าและท่าเทียบเรือ :

71,71/1-9 หมู่ที่ 1 ,ซอยสุขสัสดิ์ 49 ตำบลบางจาก
อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

ที่อยู่สำนักงานใหญ่ :

เลขที่ 206 อาคารพลาซ่า ชั้น 4 ซอยพัฒนาการ 20 แขวงสวนหลวง
เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

ข้อมูลติดต่อ : (บริการจัดเก็บสินค้าและรับฝากเอกสาร)

อีเมล์ : mkt@subsrithai.co.th
โทร :02-463-0127,02-464-1502-5
แฟกซ์ :02-517-5190

ข้อมูลติดต่อ : (บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ)

อีเมล์ : wh49@subsrithai.co.th
โทร :02-463-4280-5,02-462-6325
แฟกซ์ : 02-463-4287,02-818-7847

ข้อมูลติดต่อ : (สำหรับผู้ถือหุ้น)

อีเมล์ : sst@subsrithai.co.th
โทร : 0-2318-5514-5

ช่องทางติดตาม :