สารจากประธานกรรมการบริษัท
บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงความความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และเล็งเห็นว่าความสำคัญของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และทำให้การดำเนินธุรกิจมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทได้จัดทำนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นไว้เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี
เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยครอบคลุมถึงธุรกิจของบริษัทย่อย หรือบริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม และตัวแทนทางธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติตามนโยบายนี้ รวมถึงการสอบทานมาตรการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายธุรกิจ และรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนปฏิบัติตามนโยบายนี้โดยทั่วกัน
นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาทบทวนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศ
(นายสมโภชน์ อินทรานุกูล)
ประธานกรรมการ
วันที่ 4 มกราคม 2559
นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
บทนำ
บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชั่น ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ
เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าว บริษัทจึงได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นหนึ่งในแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดทำและประกาศใช้นโยบายการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Corporate Governance and Business Code of Conduct) ของบริษัทตลอดจนเพื่อให้บุคลากรทุกระดับยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานและให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของบริษัท
นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาทบทวนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศ
วัตถุประสงค์ของนโยบายฉบับนี้
- เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติให้บริษัท กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานถือปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- เพื่อส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ขอบเขตของนโยบายฉบับนี้
- นโยบายฉบับนี้บังคับใช้กับคณะกรรมการทุกคณะ ที่ปรึกษา พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท
- บริษัทมุ่งหวังให้ตัวแทน และ/หรือตัวกลางทางธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง หรือกระทำการในนามบริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อยปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ หรือมีแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามนโยบายฉบับนี้ด้วย
คำนิยามตามนโยบายฉบับนี้
คำนิยาม |
ความหมาย |
การทุจริต หรือ คอร์รัปชั่น |
การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การนำเสนอ หรือการให้คำมั่นว่าจะให้ การขอ หรือการเรียกร้อง ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใดที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท หรือบริษัทในกลุ่ม ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้ ทั้งต่อองค์กร ตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
|
การบริจาคเพื่อการกุศล |
การบริจาคเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดที่จัดตั้งขึ้นโดยอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เช่น องค์กรการกุศล หรือมูลนิธิ เป็นต้น
|
การช่วยเหลือทางการเมือง |
การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
|
การช่วยเหลือทางการเมือง |
การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
|
เงินสนับสนุน |
เงินสนับสนุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของผู้ให้เงินสนับสนุน
|
ผู้เกี่ยวข้อง |
คู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้อง/ญาติสนิท ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับของบริษัทและบริษัทในกลุ่ม
|
บริษัทย่อย |
บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยที่บริษัทถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
|
หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการบริษัท
- เป็นผู้พิจารณาอนุมัตินโยบายและกำกับดูแลการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
- สนับสนุนให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในบริษัทและทุกคนในบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา
- มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พิจารณาบทลงโทษจากการได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบ และร่วมแก้ไขปัญหาให้กับกรรมการผู้จัดการ
คณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล
- พิจารณานโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่ได้รับจากกรรมการผู้จัดการให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ
- กำกับดูแลการควบคุมภายในการจัดทำรายงานทางการเงินและกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
- ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโอกาสการทุจริตที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท
- รับเรื่องแจ้งเบาะแสการกระทำการทุจริต และตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทร่วมพิจารณาลงโทษ หรือแก้ไขปัญหา
ผู้ตรวจสอบภายใน
- ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้ และเสนอรายงานการตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน และการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการตรวจสอบระบบการควบคุมภายในให้คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบ
- ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับมอบหมายในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนอกเหนือจากแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้
กรรมการผู้จัดการ
- กำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริต เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
- สื่อสารกับบุคคลในองค์กร และผู้เกี่ยวข้องให้ได้ทราบถึงนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- ทบทวนความเหมาะสมของนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หรือข้อกำหนดของกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
- คอยช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจสอบในการสืบหาข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องการทุจริต โดยสามารถมอบหมายงานให้กับทีมผู้บริหารที่เห็นว่าสามารถช่วยสืบหาข้อเท็จจริงได้
- พิจารณาบทลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาจากข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและระเบียบข้อบังคับของบริษัท
ผู้จัดการฝ่าย
- ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบและเข้าใจนโยบายฉบับนี้ เพื่อให้ทราบและปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ได้ ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการอบรมและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
- เป็นผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ที่ถูกร้องเรียน
พนักงานบริษัทฯ ทุกระดับชั้น
- ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ และในกรณีที่พบเห็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนนโยบายฉบับนี้จะต้องรีบรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ตามนโยบายฉบับนี้
เลขานุการบริษัท
- ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- กำกับ/สอบทาน การปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- รายงานผลการปฏิบัติงานและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายฉบับนี้
ฝ่ายปฏิบัติการ
- อบรม/เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- ให้คำปรึกษาเพื่อให้การลงโทษเป็นไปตามระเบียบวินัยของบริษัทหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
บุคลากรทุกระดับของบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม นโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
การรับหรือมอบของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรอง
บริษัทมีนโยบายไม่ให้รับหรือมอบของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรอง หรือประโยชน์อื่น จากลูกค้า/ให้ลูกค้า หรือบุคคลอื่นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทอันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ทั้งนี้ ให้สามารถจ่ายและรับเงินที่เกี่ยวเนื่องกับค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงรับรอง และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจสามารถกระทำได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล เข้าข่ายลักษณะเป็นการให้บริการลูกค้าปกติของธุรกิจ หรือตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือตามเทศกาล สามารถตรวจสอบได้
การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน
-
ในการบริจาคเพื่อการกุศลต้องปฏิบัติดังนี้
- การใช้เงิน หรือ ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อบริจาคการกุศล ต้องกระทำในนามบริษัทเท่านั้น โดยการบริจาคเพื่อการกุศล ต้องเป็นมูลนิธิ องค์กรสาธารณะกุศล วัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่มีใบรับรองหรือเชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบได้และดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท
- การบริจาคเพื่อการกุศลในนามส่วนตัวพึงกระทำได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์ใด
- ในการให้เงินสนับสนุนต้องใช้เงิน หรือ ทรัพย์สินของบริษัท เพื่อสนับสนุนโครงการ ต้องระบุชื่อในนามบริษัทเท่านั้น โดยเงินสนับสนุนที่จ่ายไปต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่ดีและชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้การเบิกจ่ายต้องระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ และดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทฯ
การจัดซื้อจัดจ้าง
ในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และข้อบังคับซึ่งออกโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทไม่สนับสนุนการกระทำอันใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในบริษัท และไม่ให้ใช้ทรัพยากรใดของบริษัท เพื่อดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีแนวทางในการให้การช่วยเหลือทางการเมือง แก่พรรคการเมืองใดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
การประเมินความเสี่ยง
ผู้บริหารของบริษัทต้องมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดสินบนและการคอร์รัปชั่น และจะต้องสื่อสารไปยังพนักงานในระดับต่างๆ ให้เข้าใจและให้ความร่วมมือ
บริษัทจะจัดทำการประเมินความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทที่อาจมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่เข้าข่ายการติดสินบนและการคอร์รัปชั่น โดยทำการทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงลงให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้
การควบคุมภายในและการบันทึกข้อมูล การตรวจสอบทางการเงิน
บริษัทกำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อการจัดการคอร์รัปชั่น โดยครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินการของกระบวนการทางบัญชีและการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป มีคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานมาตรการและควบคุมภายในที่เกี่ยวข้อง และมีการอนุมัติถูกต้องตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนดไว้ตลอดจนมีระบบการตรวจสอบรายงานทางการเงินจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้รายงานทางการเงินมีความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท
บริษัทมีการควบคุมการจัดเก็บเอกสารทางบัญชีอย่างเพียงพอและปลอดภัย เพื่อใช้ในการตรวจสอบได้ทันที มีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลทางบัญชี และมีการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลสำรองอย่างปลอดภัย
การบริหารทรัพยากรบุคคล
บริษัทจะนำนโยบายฉบับนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการบริหารงานบุคคลของบริษัท และรวมถึงทุกกระบวนการในด้านการบริหารงานบุคคล เช่น การสรรหา การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง และการยกย่อง จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งนี้จะต้องไม่มีพนักงานรายใดที่จะถูกลดขั้น ถูกลงโทษ หรือได้รับผลกระทบในทางลบ จากการปฏิเสธการจ่ายสินบน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปก็ตาม
การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการฝึกอบรม
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และทำความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น เพื่อให้บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น ติดประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถานที่ที่เด่นชัดทุกคน ในองค์กรสามารถอ่านได้, Website, E-mail, Internet, จดหมาย และรายงานประจำปี เป็นต้น อีกทั้งบริษัทจะจัดให้มีการอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริตกับพนักงานใหม่ทุกคน และสนับสนุนให้กรรมการ และพนักงานเข้ารับการอบรมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
การแจ้งเบาะแสและหรือข้อร้องเรียน
บริษัทมีนโยบายให้พนักงานทุกคนไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชั่น หรือส่อไปในทางทุจริตและคอร์รัปชั่นที่มีผลเกี่ยวข้องกับบริษัท โดยทั้งทางตรงหรือทางอ้อม พนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสังสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามนโยบายนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้ดังนี้
-
กรรมการผู้จัดการ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้
- E-mail : supasith@subsrithai.co.th
-
จัดส่งทางไปรษณีย์ ที่ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
-
เลขานุการบริษัท โดยจดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง - ที่
เลขานุการบริษัท บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
-
คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้
-
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ Email : sompoch@subsrithai.co.th
เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ Email : pavinee@ivlaudit.com
เพื่อนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ พิจารณาสอบสวนและรายงานต่อ คณะกรรมบริษัทต่อไป
-
จดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์หรือยื่นส่งโดยตรง ที่
คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ
บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 2044/25-27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือพนักงานที่แจ้งเรื่องทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือ ในการแจ้งและรายงานการทุจริตและคอร์รัปชั่นตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสการทำผิดหรือข้อร้องเรียน
การแจ้งเบาะแสและหรือข้อร้องเรียน
- ผู้ที่กระทำทุจริตและคอร์รัปชั่น ถือเป็นการกระทำผิดนโยบายของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
- ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ให้บริการ หรือผู้รับเหมาใดๆ ของบริษัทที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับแนวทางตามนโยบายฉบับนี้ บริษัทอาจพิจารณายุติการทำธุรกรรมกับบุคคลดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร
วันที่ใช้บังคับ
นโยบายฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ติดต่อหรือสอบถามได้ที่เลขานุการบริษัท E-mail: supasith@subsrithai.co.th หรือฝ่ายปฏิบัติการ E-mail: patcharee@subsrithai.co.th
ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2559
นายศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์
กรรมการผู้จัดการ