กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ


ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ ๕๘

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า การควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามกฎหมายดังกล่าว สมควรปรับปรุงรวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติอนึ่ง ปรากฏว่าในขณะนี้ได้มีผู้ประกอบกิจการรับรองหรือรับซื้อตั๋วเงิน กิจการจัดหาเงินทุนเพื่อบุคคลอื่นและกิจการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ รวมทั้งการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของกิจการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น และกิจการเหล่านี้มีลักษณะเป็นกิจการค้าขายซึ่งกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชนได้ แต่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามกฎหมายดังกล่าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติควบคุมการประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น สมควรกำหน การควบคุมกิจการนั้นไว้ในกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่เสียด้วยในคราวเดียวกัน หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้


ข้อ ๑

ให้ยกเลิก

  • (๑) พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พุทธศักราช ๒๔๗๑
  • (๒) พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๕
  • (๓) พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙
  • (๔) พระราชบัญญัติกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ พุทธศักราช ๒๔๗๖
  • (๕) พระราชบัญญัติกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารชน พ.ศ. ๒๔๗๑ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔
  • (๖) พระราชบัญญัติกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙

บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แทน


ข้อ ๒

ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงของกระทรวงที่มีอำนาจและหน้าที่ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ หรือตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา


ข้อ ๓

กิจการดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค

  • (๑) การรถไฟ
  • (๒) การรถราง
  • (๓) การขุดคลอง
  • (๔) การเดินอากาศ
  • (๕) การประปา
  • (๖) การชลประทาน
  • (๗) การไฟฟ้า
  • (๘) การผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายก๊าซโดยระบบเส้นท่อไปยังอาคารต่างๆ
  • (๙) บรรดากิจการอื่นอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชนตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา

การตราพระราชกฤษฎีกาตาม (๙) ให้กำหนดกระทรวงผู้มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการนั้นด้วย


ข้อ ๔

ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคเว้นแต่จะได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี


ข้อ ๕

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

  • (๑) การประกันภัย
  • (๒) การคลังสินค้า
  • (๓) การธนาคาร
  • (๔) การออมสิน
  • (๕) เครดิตฟองซิเอร์
  • (๖) การรับรองหรือรับซื้อตั๋วเงิน
  • (๗) การจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้เงินนั้น หรือเอาเงินนั้นซื้อหรือซื้อลดซึ่งตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่น หรือตราสารการเครดิต
  • (๘) การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือทรัพย์สิน เช่น พันธบัตร หุ้น หุ้นกู้ หรือตราสารพาณิชย์ หรือการทำหน้าที่เป็นตัวแทน นายหน้า ผู้จัดการหรือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารดังกล่าว หรือการจัดให้มีตลาดหรือสถานที่อันเป็นศูนย์กลางการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนตราสารดังกล่าว การประกาศตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดประเภท หรือลักษณะของกิจการด้วยก็ได้

ข้อ ๖

ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการตามที่ระบุไว้ในข้อ ๓ หรือ ข้อ ๕ การประกอบกิจการดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกิจการนั้น


ข้อ ๗

ในการอนุญาตหรือให้สัมปทานตามข้อ ๔ และข้อ ๕ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชนไว้ด้วยก็ได้

เงื่อนไขที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมก็ได้แต่ต้องกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับเงื่อนไขที่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมตามที่รัฐมนตรีเห็นสมควร


ข้อ ๘

ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการดังต่อไปนี้หรือกิจการที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน

  • (๑) การธนาคาร
  • (๒) การออมสิน
  • (๓) เครดิตฟองซิเอร์
  • (๔) การรับรองหรือรับซื้อตั๋วเงิน
  • (๕) การจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้เงินนั้น หรือเอาเงินนั้นซื้อหรือซื้อลดซึ่งตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่น หรือตราสารการเครดิต
  • (๖) การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือทรัพย์สิน เช่น พันธบัตร หุ้น หุ้นกู้ หรือตราสารพาณิชย์ หรือการทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายหน้า ผู้จัดการหรือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารดังกล่าว หรือการจัดให้มีตลาดหรือสถานที่อันเป็นศูนย์กลางการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนตราสารดังกล่าว

ข้อ ๙

ให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการการรถไฟ และการเดินอากาศ


ข้อ ๑๐

ให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการ การชลประทาน และการขุดคลอง


ข้อ ๑๑

ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการการรถราง การประปา การไฟฟ้า และการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายก๊าซโดยระบบเส้นท่อไปยังอาคารต่างๆ


ข้อ ๑๒

ให้กระทรวงเศรษฐการมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการประกันภัย และการคลังสินค้า หรือกิจการที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน


ข้อ ๑๓

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติกิจการที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้หรือพระราชกฤษฎีกา แล้วแต่กรณี


ข้อ ๑๔

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการตามที่กระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็ได้

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติกิจการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมาย


ข้อ ๑๕

ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบกิจการตามที่ระบุไว้ในข้อ ๓ หรือข้อ ๕ ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้หรือในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีก็ได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบกิจการและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร


ข้อ ๑๖

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๔ หรือข้อ ๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ข้อ ๑๗

ผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานตามข้อ ๔ หรือผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ ๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องกัน ให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังทำการฝ่าฝืนอยู่


ข้อ ๑๘

ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


๑๙

บรรดาเงื่อนไขที่รัฐบาลได้กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ คงใช้บังคับได้ต่อไป


ข้อ ๒๐

ใบอนุญาตหรือสัมปทานให้ประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ซึ่งได้ออกให้ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ


ข้อ ๒๑

ให้ถือว่ากิจการประกันภัย การคลังสินค้า การออมสิน เครดิตฟองซิเอร์ เป็นกิจการที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามข้อ ๕ แล้ว

ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ซึ่งได้ออกให้ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ


ข้อ ๒๒

เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศให้กิจการตามข้อ ๕ เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตเพิ่มขึ้นจากที่ได้ประกาศไว้แล้ว ผู้ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในวันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ภายในหกสิบวัน นับแต่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อได้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าผู้อนุญาตได้แจ้งให้ทราบถึงการไม่อนุญาต


ข้อ ๒๓

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีวาการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้


ข้อ ๒๔ ***

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
จอมพล ถ. กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ


*** ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๕ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๕





ประกาศกระทรวงพาณิชย์
เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขควบคุมกิจการคลังสินค้า พ.ศ. ๒๕๓๕

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๗ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๕ และข้อ ๒๓ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้


ข้อ ๑ ***

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


ข้อ ๒

ให้ยกเลิกเงื่อนไขควบคุมกิจการคลังสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖


ข้อ ๓

ในประกาศนี้

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

“ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการคลังสินค้า

“กิจการคลังสินค้า” หมายความว่า การรับทำการเก็บรักษาสินค้าหรือการรับทำการเก็บรักษาสินค้าและให้บริการเกี่ยวกับสินค้าอื่น เพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้า ไม่ว่าบำเหน็จนั้นจะเป็นเงิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด

“คลังสินค้า” หมายความว่า สถานที่ที่จัดให้มีไว้เพื่อกิจการคลังสินค้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานแห่งใหญ่ หรือสำนักงานสาขาของผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า


ข้อ ๔

ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่

  • (๑) องค์การของรัฐบาลซึ่งประกอบกิจการคลังสินค้า
  • (๒) สหกรณ์ซึ่งประกอบกิจการคลังสินค้า

* ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๓๘ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๕





หมวด ๑ การจัดตั้งและการขออนุญาต


ข้อ ๕

การประกอบกิจการคลังสินค้าจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จดทะเบียนเป็นบริษัท และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการคลังสินค้าแล้ว การยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อน ในการให้ความเห็นชอบ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขบังคับให้ปฏิบัติตามที่เห็นสมควรก็ได้ การยื่นคำขอรับความเห็นชอบตามวรรคสอง ให้กระทำตามแบบ ค.ส.๑ ท้ายประกาศนี้ สำหรับกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกรมการค้าภายใน ส่วนจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีตามวรรคสองแล้ว ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ และให้ยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่จดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่อาจปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคสี่ได้ให้ยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน โดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวในการนี้อธิบดีกรมการค้าภายในจะมีคำสั่งขยายระยะเวลาตามที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบหรือผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาตามวรรคสี่หรือวรรคห้า ให้ถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์ที่จะประกอบกิจการคลังสินค้าและให้อธิบดีกรมการค้าภายในจำหน่ายคำขอนั้นเสีย


ข้อ ๖

การยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าตามข้อ ๕ ให้กระทำตามแบบ ค.ส. ๒ ท้ายประกาศนี้ สำหรับกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกรมการค้าภายใน ส่วนจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพร้อมทั้งส่งเอกสารดังต่อไปนี้

  • (๑) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงรายชื่อกรรมการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท ทุนจดทะเบียน ที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  • (๒) สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ
  • (๓) สำเนาข้อบังคับของบริษัท
  • (๔) สำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น
  • (๕) แบบสัญญาเก็บของในคลังสินค้า แบบใบรับของและแบบประทวนสินค้า
  • (๖) สำเนาระเบียบข้อบังคับ หรือเงื่อนไขต่างๆ ของบริษัทเกี่ยวกับกิจการคลังสินค้า (ถ้ามี)
  • (๗) เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในคลังสินค้า

นอกจากนี้ ให้แจ้งจำนวน ขนาด สถานที่ตั้งคลังสินค้า ตลอดจนชื่อ ประวัติทางการงานและคุณวุฒิของกรรมการและผู้สอบบัญชีด้วยเอกสารตาม (๒) (๓) และ (๔) ต้องให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับรองว่าเป็นเอกสารที่ได้ทำขึ้นโดยถูกต้อง ในกรณีที่รัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขตามข้อ ๕ วรรคสอง ผู้ยื่นคำขอต้องส่งหลักฐานว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นแล้วอีกด้วย


ข้อ ๗

เมื่ออธิบดีกรมการค้าภายในได้รับคำขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าและพิจารณาเห็นสมาควรอนุญาต ให้นำเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้อธิบดีกรมการค้าภายในออกใบอนุญาตเป็นสำคัญตามแบบ ค.ส. ๓ ท้ายประกาศนี้ ถ้าใบอนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้า ชำรุด สูญหาย ถูกทำลาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้ายื่นคำขอรับใบแทนอนุญาตภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตชำรุด เสียหาย ถูกทำลาย หรือ เปลี่ยนแปลงรายการนั้นตามแบบ ค.ส. ๔ ท้ายประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ ณ สำนักงานของผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย


ข้อ ๘

ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าต้องมีทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท และต้องมีคลังสินค้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง คลังสินค้าตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะและสภาพตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • (๑) โครงสร้างต้องมีลักษณะมั่นคงแข็งแรง
  • (๒) ฝาผนังต้องทำด้วยอิฐ หรือคอนกรีตบล็อก หรือคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวัสดุที่มีความเข็งแรง ทนทาน จรดหลังคาโดยมีช่องลมซึ่งมีลวดตาข่ายหรือวัสดุอื่นที่กันสัตว์ได้พอควร
  • (๓) หลังคาต้องมุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี หรือวัสดุที่มีความเข็งแรงทนทาน
  • (๔) ประตูต้องทำอย่างมั่นคงแข็งแรง และมีความปลอดภัย
  • (๕) ภายในอาคารต้องมีพื้นที่เก็บสินค้ามีลักษณะเป็นที่โล่งติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองร้อยตารางเมตร
  • (๖) พื้นต้องทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าสามเมตริกตันต่อหนึ่งตารางเมตร
  • (๗) คลังสินค้าจะต้องเป็นเอกเทศและไม่ปะปนกับกิจการอื่น
  • (๘) ป้ายชื่อต้องจัดให้มีไว้ที่คลังสินค้า มีขนาดพอสมควรที่สามารถมองเห็นได้โดยชัดเจนและติดตั้งไว้เป็นการถาวร
  • (๙) ต้องมีทางเข้าออกคลังสินค้า โดยสะดวกทั้งทางบกและหรือทางน้ำ
  • (๑๐) วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันอัคคีภัยต้องจัดให้มีอย่างเพียงพอ

เมื่อมีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตามวรรคสองให้สอดคล้องกับสภาพสินค้าเป็นรายๆ ไปก็ได้


ข้อ ๙

สำนักงานของผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าต้องมีลักษณะและสภาพตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  • (๑) ต้องแยกสำนักงานให้เป็นสัดส่วนโดยเฉพาะเพื่อกิจการคลังสินค้า
  • (๒) ต้องจัดให้มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานเป็นของตนเองอย่างเพียงพอ
  • (๓) ป้ายชื่อสำนักงาน
    • (ก) กรณีอาคารเอกเทศ ต้องจัดให้มีป้ายชื่อติดตั้งไว้หน้าสำนักงานเป็นการถาวร ซึ่งสามารถแลเห็นได้โดยถนัดชัดเจนและอ่านได้ง่าย
    • (ข) กรณีใช้อาคารซึ่งเป็นสำนักงานรวม ต้องจัดให้มีป้ายชื่อไว้เป็นการถาวรที่ป้ายรวมและหน้าสำนักงาน ซึ่งสามารถแลเห็นได้โดยถนัดชัดเจนและอ่านได้ง่าย เมื่อมีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งก็ได้

ข้อ ๑๐

ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าอาจมีสาขาได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีในการอนุญาตรัฐมนตรีจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขก็ได้ และให้นำข้อ ๗ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขออนุญาตมีสาขาให้กระทำตามแบบ ค.ส. ๕ ท้ายประกาศนี้ สำหรับกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกรมการค้าภายใน ส่วนจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด





หมวด ๒ เงื่อนไขในการดำเนินงาน


ข้อ ๑๑

ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าจะดำเนินกิจการได้เฉพาะเรื่อง ดังต่อไปนี้

  • (๑) รับฝากสินค้าโดยผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าได้รับเงินค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ในการรับฝากสินค้านี้ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑๔ ว่าด้วยเก็บของในคลังสินค้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  • (๒) ให้ผู้ฝากกู้ยืมเงินโดยเอาสินค้าที่ฝากไว้นั้น จำนำไว้เป็นประกันแก่ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า โดยผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าได้รับดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดเป็นค่าตอบแทน
  • (๓) ให้บริการด้านความเย็นเพื่อเก็บรักษาสินค้า รับอบพืชเพื่อลดความชื้น กระเทาะ คัด ผสม หรือด้วยกรรมวิธีอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ของผู้ฝาก โดยผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใด
  • (๔) กระทำการซื้อขาย แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ กู้ยืม จำนอง จำนำ เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการคลังสินค้า การให้เช่าคลังสินค้าทั้งหมดจะกระทำมิได้ แต่การให้เช่าคลังสินค้าบางส่วนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายในก่อน
  • (๕) กระทำการใด ๆ ตามแบบพิธีการเกี่ยวกับการศุลกากร การนำเข้า การส่งออก การขนส่งสินค้าและอาจจัดให้มีการประกันภัยซึ่งสินค้าที่ตนพึงกระทำตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้าก็ได้ทั้งนี้ ในการกระทำการดังกล่าวผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าต้องได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อผู้ฝาก หรือผู้สลักหลังโดยถูกต้อง
  • (๖) นำเงินที่ได้รับไปลงทุนหาผลประโยชน์ ดังต่อไปนี้
    • (ก) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลไทย
    • (ข) ซื้อหลักทรัพย์ขององค์การรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน
    • (ค) ถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัท เงินที่นำไปลงทุนหาผลประโยชน์ตาม (ก) และ (ข) ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของทุนที่ชำระแล้วและทุนสำรองของบริษัท และเงินที่นำไปลงทุนตาม (ค) ต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าของทุนที่ชำระแล้วและทุนสำรองของบริษัท แต่เงินที่นำไปลงทุนตาม (ก) (ข) และ (ค) รวมกันต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของทุนที่ชำระแล้วและทุนสำรองของบริษัท

ข้อ ๑๒

ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้ากระทำการดังต่อไปนี้ คือ

  • (๑) ลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี
  • (๒) ฝากเงินสดไว้ที่อื่น นอกจากธนาคารหรือบริษัทเงินทุน
  • (๓) ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่เป็นการซื้อหรือมีไว้เพื่อประกอบกิจการคลังสินค้า หรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของบริษัทตามสมควร
  • (๔) รับทำการเก็บรักษาสินค้าของผู้อื่น โดยทำสัญญาเก็บของในคลังสินค้า หรือออกใบรับของคลังสินค้า หรือประทวนสินค้าโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้จัดการในฐานะนายคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้จัดการ
  • (๕) รับจำนำสินค้าของบริษัทในเครือเดียวกันตามประมวลรัษฎากร หรือสินค้าของผู้จัดการหรือกรรมการของผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม การรับจำนำสินค้าโดยทางอ้อม ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ คือ
    • (ก) รับจำนำสินค้าของบริษัทอื่นซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดการหรือกรรมการหรือเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนตั้งแต่ร้อยละห้าสิบขึ้นไป หรือ
    • (ข) รับจำนำสินค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนหรือ
    • (ค) รับจำนำสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
  • (๖) ออกใบรับของคลังสินค้าใหม่ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเมื่อผู้ประกอบกิจการคลังสินค้ายังไม่ได้ยกเลิกใบรับของคลังสินค้าเดิม เว้นแต่ใบรับของคลังสินค้าเดิมนั้นสูญหายหรือถูกทำลาย
  • (๗) ออกใบรับของคลังสินค้าหรือประทวนสินค้า โดยไม่ถูกต้องตรงตามความจริง

ข้อ ๑๓

เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของบริษัท หรือแต่งตั้งเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้จัดการ หรือมอบอำนาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำการแทนผู้จัดการให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าแจ้งเป็นหนังสือพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับการนั้น ต่ออธิบดีกรมการค้าภายในภายในสิบห้าวัน นับแต่วันแก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้ง เปลี่ยนแปลง หรือมอบอำนาจแล้วแต่กรณี


ข้อ ๑๔

การเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งสำนักงานของบริษัท หรือเปลี่ยนแปลงจำนวน ขนาด ลักษณะและสภาพ หรือสถานที่ตั้งคลังสินค้า ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าแจ้งเป็นหนังสือพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับการนั้น ต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงแล้วเสร็จ


ข้อ ๑๕

กรรมการของผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าต้องถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จดทะเบียน


ข้อ ๑๖

ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าแจ้งชนิดและปริมาณสินค้าที่รับเข้ามาและส่งออกไปจากคลังสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นประจำทุกเดือนภายในวันที่ ๗ ของเดือนถัดไปตามแบบค.ส. ๖ ท้ายประกาศนี้


ข้อ ๑๗

ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าจัดให้มีการตรวจสอบสินค้าทั้งหมดที่เก็บไว้ในคลังสินค้าอย่างน้อยปีละสองครั้ง คือในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม และต้องแจ้งวันทำการตรวจสอบเป็นหนังสือให้ผู้ฝาก บรรดาเจ้าหนี้ของผู้ฝาก และพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้ผู้ฝากหรือเจ้าหนี้ของผู้ฝากและพนักงานเจ้าหน้าที่มาดูการตรวจสอบได้ ถ้าหากมีความประสงค์เช่นนั้น และผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่บุคคลดังกล่าวในการดูการตรวจสอบ


ข้อ ๑๘

ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าจัดให้มีบัญชีแสดงการรับและจ่ายทั้งสิ้นเกี่ยวกับกิจการคลังสินค้า บัญชีคุมสินค้าที่ทำการเก็บรักษาและบัญชีอื่นๆ ที่จำเป็นให้เรียบร้อยและถูกต้องพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกเวลา


ข้อ ๑๙

ให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าส่งรายงานประจำปีแสดงฐานะการเงินและกิจการของบริษัทสำหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาแล้วต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินตามแบบ ค.ส. ๗ ท้ายประกาศนี้

ถ้าปรากฏว่ารายงานประจำปีที่ส่งตามวรรคหนึ่ง ไม่ถูกต้องหรือมีรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ให้อธิบดีกรมการค้าในมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง หรือครบถ้วนบริบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ ถ้าผู้ประกอบกิจการคลังสินค้ามิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าไม่ได้ส่งรายงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง


ข้อ ๒๐

เมื่ออธิบดีกรมการค้าภายในเห็นสมาควรจะสั่งให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าส่งรายงานหรือเอกสารใด ๆ เกี่ยวกับฐานะการเงินหรือกิจการของบริษัทต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน เมื่อใดก็ได้ โดยให้กำหนดระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไว้ด้วย

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าไม่อาจปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้ให้ยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน เมื่อมีเหตุอันสมควรอธิบดีกรมการค้าภายในจะมีคำสั่งขยายระยะเวลาให้ก็ได้


ข้อ ๒๑

เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าใดมีฐานะการเงินที่ไม่มั่งคงหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฝาก อธิบดีกรมการค้าภายในมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้านั้นดำเนินการแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบธุรกิจโดยปกติภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมการค้าภายในกำหนด


ข้อ ๒๒

ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการคลังสินค้าให้แจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมการค้าภายในล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบกิจการ


ข้อ ๒๓

เมื่อมีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดค่าบำเหน็จในการรับทำการเก็บรักษาสินค้าหรือในการให้บริการเกี่ยวกับสินค้าก็ได้


ข้อ ๒๔

เมื่อผู้ประกอบกิจการคลังสินค้ากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าเลิกกิจการและเพิกถอนใบอนุญาตได้ คือ

  • (๑) ฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศข้อ ๗ วรรคสาม ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ ข้อ ๑๗ ข้อ ๑๘ ข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ หรือ ข้อ ๒๓ หรือ
  • (๒) ไม่ดำเนินกิจการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตหรือหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันเกินกว่าร้อยแปดสิบวัน โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายใน หรือ
  • (๓) ดำเนินการตามคำสั่งของอธิบดีกรมการค้าภายในที่สั่งตามข้อ ๒๑ แล้วแต่ฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานก็ยังไม่ได้มาตรฐานการประกอบธุรกิจโดยปกติ

ข้อ ๒๕

คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตอีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต





หมวด ๓ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่


ข้อ ๒๖

ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เฉพาะกิจการคลังสินค้า โดยให้มีอำนาจเฉพาะท้องที่ที่กำหนด คือ

  • (๑) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
    • (ก) อธิบดีกรมการค้าภายใน
    • (ข) รองอธิบดีกรมการค้าภายใน
    • (ค) ข้าราชการกรมการค้าภายในซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป
  • (๒) ในเขตท้องที่จังหวัดนั้นๆ
    • (ก) พาณิชย์จังหวัด
    • (ข) ข้าราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ในสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป




หมวด ๔ บทเฉพาะกาล


ข้อ ๒๗

ให้ผู้ที่ดำเนินการประกอบกิจการคลังสินค้าซึ่งได้รับอนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าตามประกาศนี้อยู่ต่อไป


ข้อ ๒๘

คำขอรับความเห็นชอบและคำขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้า ซึ่งได้ยื่นไว้แล้วตามเงื่อนไขควบคุมกิจการคลังสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นคำขอรับความเห็นชอบและคำขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าตามประกาศนี้



ประกาศ ณ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๕
อมเรศ ศิลาอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน)

ที่อยู่คลังสินค้าและเอกสาร :

115,115/7-10 หมู่ที่ 6,ซอยสุขสวัสดิ์ 76 ตำบลบางจาก
อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

ที่อยู่คลังสินค้าและท่าเทียบเรือ :

71,71/1-9 หมู่ที่ 1 ,ซอยสุขสัสดิ์ 49 ตำบลบางจาก
อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

ที่อยู่สำนักงานใหญ่ :

เลขที่ 206 อาคารพลาซ่า ชั้น 4 ซอยพัฒนาการ 20 แขวงสวนหลวง
เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

ข้อมูลติดต่อ : (บริการจัดเก็บสินค้าและรับฝากเอกสาร)

อีเมล์ : mkt@subsrithai.co.th
โทร :02-463-0127,02-464-1502-5
แฟกซ์ :02-517-5190

ข้อมูลติดต่อ : (บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ)

อีเมล์ : wh49@subsrithai.co.th
โทร :02-463-4280-5,02-462-6325
แฟกซ์ : 02-463-4287,02-818-7847

ข้อมูลติดต่อ : (สำหรับผู้ถือหุ้น)

อีเมล์ : sst@subsrithai.co.th
โทร : 0-2318-5514-5

ช่องทางติดตาม :